Monday, February 29, 2016

การศึกษาในระบบ

การศึกษา (Education) ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

ความหมายของการศึกษาในระบบ
การศึกษาในระบบ (Formal Education)
คือ การศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

การศึกษาในระบบ (Formal Education) คือ การศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน ที่สำคัญ ในการดำเนินกิจกรรมทางการศึกษานั้น เกิดขึ้นทั้งที่ห้องเรียน รวมถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียน อาทิ ที่บ้าน หรือการเรียนรู้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยยึดถือเอาห้องเรียนเป็นฐานกลางของการจัดการศึกษา การศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคน และการที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการนั้นต้องอาศัยผลรวมของกระบวนการที่มีความ สัมพันธ์กัน คือ กระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้






การศึกษาในระบบ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา

การศึกษาขั้นพื้นฐาน
การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่า 12 ปีก่อนระดับอุดมศึกษา การแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดแบ่งไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มี 3 ระดับคือ

  1. การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อมทุกด้านดีพอที่จะเข้ารับการศึกษาต่อไป การจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษานี้อาจจัดเป็นสถานรับเลี้ยงดูเด็ก ศูนย์เด็กปฐมวัยโรงเรียนอนุบาล หรือจัดเป็นชั้นเด็กเล็กในโรงเรียนประถมศึกษา
  2. การศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานและให้สามารถคงสภาพอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณ ได้มีความสามารถประกอบอาชีพตามควรแก่วัยและความสามารถ ดำรงตนเป็นพลเมืองดีในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การจัดสถานศึกษาระดับประถมศึกษา พึงจัดเป็นตอนเดียวตลอดใช้เวลาเรียนประมาณ 6 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะกำหนดอายุเข้าเกณฑ์ ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และความพร้อมของเด็ก แต่ต้องไม่บังคับเด็ก เข้าเรียนก่อนอายุครบ 6 ปี บริบูรณ์ และไม่ช้ากว่าอายุครบ 8 ปี บริบูรณ์
  3. การศึกษาระดับมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาที่ต่อจากระดับประถมศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพที่เหมาะสมกับวัย ความต้องการ ความสนใจ และความถนัด เพื่อให้บุคคลเข้าใจและรู้จักเลือกอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม การศึกษาระดับนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนตอนละประมาณ 3 ปี นับว่าเป็นการศึกษาระดับกลาง ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุประมาณ 12 - 17 ปี ให้ได้เรียนหลังจากจบประถมศึกษาและเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงขึ้นไป ผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษา อาจจะออกไป ประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและความสามารถ หรือศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนกลุ่มวิชาการ วิชาชีพตามความถนัด และความสนใจ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พึงให้ผู้เรียนได้เน้นการเรียนกลุ่มวิชาที่ผู้เรียนจะยึดเป็นอาชีพต่อไป



การศึกษาระดับอุดมศึกษา
เป็นการศึกษาหลังระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มุ่งพัฒนาความเจริญงอกงามทางสติปัญญาและความคิด เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ การศึกษาระดับนี้จัดแบบกว้างให้ผู้เรียนมีความรู้รอบ และเน้นเฉพาะสาขาวิชาชีพให้ผู้เรียนมีความรู้สึกและชำนิชำนาญทั้งในด้านทฤษฎี ปฏิบัติและมีจรรยา บรรณของวิชาชีพนั้น ๆ หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาจึงมุ่งดำเนินการเรียนการสอนทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ การวิจัยเพื่อแสวงหาข้อมูล ความรู้ใหม่ และพิสูจน์หลักทฤษฎีต่าง ๆ การบริการชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาประเทศทุกด้าน และช่วยแก้ปัญหาของชุมชน การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็นสองระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา ซึ่งจะครอบคลุมถึงการศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรหรืออนุปริญญา ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมาแล้ว เป็นการให้ความสำคัญแก่การศึกษาระดับนี้ ที่ถือกันว่าเป็นกำลังคนระดับกลางและพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ


วัตถุประสงค์ของการศึกษาในระบบ

  1. ถ่ายทอดหรือปลูกฝัง เนื้อหา ความรู้ ความเข้าใจที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ได้รับการศึกษาวางตัวได้เหมาะสมในสังคม และมีความสามารถประกอบอาชีพตามความถนัด ความสนใจ หรือตามโอกาสของแต่ละบุคคล
  2. เตรียมเด็กก่อนวัยเรียน ให้มีความพร้อมในการเรียนรู้และจัดให้เด็กในวัยเรียน ได้รับการศึกษาเพื่อเรียนรู้ และพัฒนาตนเองต่อเนื่องเพื่อให้มีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย เชาวน์ปัญญา ความสนใจที่เหมาะสมมีความพร้อมในการศึกษาระดับสูงขึ้นไป
  3. เพื่อพัฒนาเด็กในวัยเรียนทุกระดับให้ได้รับการศึกษา เพื่อประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวระดับพื้นฐาน และเพื่อมีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพการงานต่อไป
  4. ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาระดับสูงในเชิงคุณภาพ มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้พัฒนาความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ซึ่งอาจดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษา ที่เน้นการวิเคราะห์ วิจัยระดับสูง มุ่งคิดค้นเนื้อหาสาระที่แปลกใหม่จากเดิม นอกจากนี้ยังรวมถึงการฝึกอบรมเฉพาะทางเช่น ด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นต้น
  5. พัฒนาศักยภาพของบุคคลเต็มความสามารถและตอบสนองวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ เน้นพัฒนากลุ่มเป้าหมายในลักษณะบูรณาการ คือ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย สติปัญญาคุณธรรม ความคิด ความสำนึก ความรับผิดชอบ ฯลฯ ซึ่งตามปกติเป็นหน้าที่ของสถานศึกษา และอาจจัดเสริมเติมในลักษณะฝึกอบรมเฉพาะหรือแทรกในกิจกรรมการเรียนการสอนปกติ




เป้าหมายของการจัดการศึกษาในระบบ

  1. เด็กก่อนวัยเรียน
    เป็นการจัดกิจกรรมในลักษณะการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ได้แก่ กิจกรรมการเคลื่อนไหวตามจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเกมการศึกษาเป็นต้น
  2. บุคคลในวัยเรียน
    เป็นการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
    2.1) การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้แก่ การจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น มักใช้เวลาประมาณสิบสองปี เป็นส่วนใหญ่ ในช่วงปลายของการศึกษาเยาวชนที่สนใจสายอาชีพ แทนที่จะศึกษาสายสามัญ ก็อาจเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษา สายอาชีพได้ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนอาชีวศึกษา ประเภทต่าง ๆ
    2.2) การศึกษาระดับอุดมศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เรียนที่มุ่งศึกษาต่อก็อาจเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งรวมสถาบันอุดมศึกษาสายอาชีพต่ำกว่าปริญญาด้วย




องค์ประกอบของการจัดการศึกษาในระบบ

องค์ประกอบของการจัดการศึกษา มีดังต่อไปนี้

  1. สาระเนื้อหาในการศึกษา
    การจัดการศึกษาในระบบ จะจัดทำหลักสูตรเป็นตัวกำหนดเนื้อหาสาระหลักสูตรในหลักสูตรกลางแต่ละระดับ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้สถานศึกษาแต่ละแห่งสามารถจัดเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับท้องถิ่นได้ด้วย โดยมีเนื้อหาสาระที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา ทั้งนี้ต้องทบทวนเนื้อหาสาระ เพื่อปรับแก้ไขให้ถูกต้องทันสมัย และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน
  2. ครู ครูผู้สอน หรือผู้ให้การเรียนรู้ ผู้ถ่ายทอดเนื้อหาสาระ
    ได้แก่ ครู และอาจารย์ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบอาชีพชั้นสูง บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการอบรมทั้งในด้านเนื้อหา และวิธีการถ่ายทอด เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ และสาระวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. สื่อและอุปกรณ์สำหรับการศึกษา
    เช่น อาคารสถานที่ โต๊ะเก้าอี้ กระดานเขียน หนังสือ แบบเรียน สมุด ดินสอ ตลอดทั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่มีราคาแพงทั้งหลาย เช่น อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สื่อและอุปกรณ์เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการจัดการศึกษา
  4. รูปแบบวิธีการเรียนการสอน
    การศึกษาในระบบยุคปฏิรูปการศึกษา เน้นความสำคัญที่ตัวผู้เรียน รูปแบบวิธีการเรียนการสอนใหม่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งมีกระบวนการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การระดมความคิด การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การนำชมนอกสถานที่เรียน การใช้อุปกรณ์เครื่องมือประกอบ
  5. สถานศึกษาและบรรยากาศแวดล้อม
    การจัดการศึกษาในระบบ ยังต้องอาศัยชั้นเรียนยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นอาคารสถานที่ห้องเรียน และบรรยากาศแวดล้อมที่ใช้ในการจัดการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งจะต้องจัดบรรยากาศแวดล้อมที่เอื้อการเรียนรู้
  6. ผู้เรียน
    ผู้เรียนหรือผู้ศึกษาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการจัดการศึกษา เพราะผู้เรียนคือผู้รับการศึกษาและเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษา การปรับเปลี่ยนความรู้และพฤติกรรมของผู้เรียน เป็นดัชนีชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาจึงครอบคลุมขั้นตอนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียน ตั้งแต่ การเตรียมความพร้อม สำหรับการเรียนรู้ การให้การศึกษาอบรมการประเมินและการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง



วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาที่เกิดจากการจัดการศึกษาในระบบ
วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาที่เกิดจากการจัดการศึกษาในระบบ ของสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยได้เก็บข้อมูลจากผู้จัดการศึกษาทางเลือก 50 กลุ่ม เขตภาคกลาง ได้พบว่าปัญหา การศึกษา ในปัจจุบันมีดังนี้

  1. คนไม่รู้จักวิเคราะห์ปัญหา ทรัพยากรท้องถิ่น การจัดการ ได้รับการปลูกฝังให้พึ่งพาปัจจัยภายนอก ทำให้คนพึ่งตนเองไม่ได้
  2. การศึกษาในระบบไม่สามารถรับมือกับกระแสบริโภคนิยมในปัจจุบันได้ เป็นต้นว่า ปัญหายาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การก่อความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในสังคม การพนัน และ ความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย
  3. การศึกษาทำลายความเชื่อมั่นในภูมิปัญญา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงามที่เคยมีมา รู้สึกว่าตนเองล้าหลัง ถ้าไม่จบ การศึกษา คนจะคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่สามารถทำงานได้


สรุป
การศึกษาในระบบ (Formal Education) เป็นการศึกษาที่มีรูปแบบและระบบแบบแผนชัดเจน มีการกำหนดวัตถุประสงค์ หลักสูตรวิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดผล และการประเมินผลที่แน่นอน ซึ่งการศึกษาในระบบของไทยประกอบไปด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาในขั้นอุดมศึกษา โดยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถูกแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ยังถูกแบ่งเป็นประเภทสามัญศึกษาและประเภทอาชีวศึกษาอีกด้วย สำหรับในการศึกษาขั้นอุดมศึกษานั้น แบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆคือ ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโทและปริญญาเอก

อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/

การศึกษานอกระบบ


การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

พระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน สำหรับการศึกษาของประชาชนชาวไทยที่อยู่นอกระบบโรงเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา สำหรับประชาชนที่อยู่ในชนบทเป็นอย่างมาก ทรงริเริ่มตั้ง "ศาลารวมใจ" ตามหมู่บ้านชนบท เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ แก่ห้องสมุด "ศาลารวมใจ" นอกจากนั้นมีพระราชดำริ จัดทำโครงการพระดาบส เมื่อ พ.ศ.2519



"อาศรมของพระดาบส" เป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนนอกระบบโรงเรียนที่พลาดโอกาสในการศึกษา เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่ประชาชนที่มีความรักวิชาการ ใฝ่หาความรู้ใส่ตนเองแต่ไม่สามารถหาที่เรียนได้อาจเนื่องจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงมีพระราชดำริให้การศึกษาแก่ประชาชนประเภทนี้ ให้มีลักษณะเดียวกับการศึกษาในสมัยโบราณ ที่ผู้ต้องการหาวิชาต้องดั้นด้นไปหาพระอาจารย์ ซึ่งเป็นพระดาบสมีสำนักอยู่ในป่า แล้วฝากฝังตัวเป็นศิษย์

สำหรับอาศรมของพระดาบสหรือส่วนใหญ่เรียก "โรงเรียนพระดาบส" ใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ณ 384-389 ถนนสามเสน รับสมัครผู้เรียนไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ ความรู้หรือฐานะ เปิดสอนครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม 2519 มีผู้เข้าศึกษาจำนวน 6 คน หลักสูตรการเรียนใช้เวลา 1 ปี แต่เมื่อปฏิบัติจริงๆ ใช้เวลาเพียง 9 เดือน นักศึกษาที่เรียนสำเร็จการโรงเรียนพระดาบส มีความรู้ความสามารถประกอบอาชีพได้ตามวิชาที่ต้องการ ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในโรงเรียนพระดาบสมีทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน และทหารผ่านศึกที่ทุพพลภาพ ครูผู้สอนส่วนมากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาสาสมัคร โดยถือว่าการสอนวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นวิทยาทาน ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น โรงเรียนนี้มีองคมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒอื่นๆ เป็นผู้ดำเนินการ วิชาที่โรงเรียนเปิดสอนครั้งแรก ได้แก่ วิชาซ่อมเครื่องไฟฟ้า วิทยุติดตั้งไฟฟ้า พร้อมกับการเรียนการสอนนี้ ผู้เรียนสามารถหารายได้ในรูปสหกรณ์ด้วย
ที่มา : พระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน



การศึกษานอกระบบ (Non_formal Education)
ปัจจุบันวิถีการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การขยายตัวทางสังคมในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง องค์ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ล้วนเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based Economy) ทำให้ประชากรเกิดความต้องการในการแสวงหาความรู้ นำไปสู่การเรียนรู้ในแทบทุกกิจกรรมของสังคม วิถีการเรียนรู้ของมนุษย์จึงขยายขอบเขตจากการศึกษาในระบบ(ชั้นเรียน) ไปสู่การเรียนรู้จากการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ส่งผลทำให้เกิดกิจกรรมทางการศึกษรวมไปถึงแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย



ความหมายของการศึกษานอกระบบ
ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 มาตรา 4 ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษานอกระบบไว้ว่า “การศึกษานอกระบบ” หมายความว่า กิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียน หรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย ตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้น และมีวิธีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐาน เพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้

นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ยังได้ให้ความหมายของคำว่า การศึกษานอกระบบ ไว้ดังนี้ “การศึกษานอกระบบ”หมายถึง การศึกษาซึ่งจัดขึ้นนอกระบบปกติ ที่จัดให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย ไม่มีการจำกัดพื้นฐานการศึกษาอาชีพประสบการณ์หรือความสนใจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในด้านพื้นฐานแก่การดำรงชีวิต ความรู้ทางด้านทักษะ การประกอบอาชีพและความรู้ด้านอื่น ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต การจัดการศึกษามีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษาระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล ซึ่งเงื่อนไข การสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตร จะต้องมีตามเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษานอกระบบหมายถึง กระบวนการทางการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อเพิ่มหรือพัฒนาศักยภาพให้แก่ประชาชน ทั้งในด้านความรู้ ความชำนาญ หรืองานอดิเรกต่างๆ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาอาจได้รับ หรือไม่ได้รับเกียรติบัตรก็ได้ ซึ่งเกียรติบัตรนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับเทียบเงินเดือน หรือศึกษาต่อ ยกเว้นการศึกษาสายสามัญของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีการมอบวุฒิบัตรที่สามารถปรับเทียบเงินเดือนหรือศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นได้

การศึกษานอกระบบเกิดขึ้นครั้งแรกใน ปี ค.ศ. 1967 ในการประชุมของ UNESCO เรื่องThe World Educational Crisis ซึ่งได้นิยามการศึกษานอกระบบ หมายถึง "การจัดการกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ แต่นอกกรอบของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ โดยมุ่งบริการให้คนกลุ่มต่างๆ ของประชากร ทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก" โดยเน้นการเรียนรู้ (Learning) แต่ในปัจจุบันการศึกษานอกระบบคือ กระบวนการจัดการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ทั้งที่เป็นทัศนคติ ทักษะ และความรู้ซึ่งทำได้ยืดหยุ่นกว่าการเรียนในระบบโรงเรียนทั่วไป สมรรถนะที่เกิดจากการศึกษานอกระบบมีตั้งแต่ทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง การทำงานเป็นกลุ่ม การแก้ไข ความขัดแย้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาร่วมกัน การสร้างความเชื่อมั่น ความรับผิดชอบและความมีวินัย การศึกษานอกระบบยุคใหม่จึงเน้นการเรียนรู้และสมรรถนะ (Learning and Competency) (จรวยพร ธรณินทร์, 2550)

การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการศึกษา ซึ่งเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนตามปกติ ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเอง ให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นการจัดการศึกษาในลักษณะอ่อนตัวให้ผู้เรียนมีความสะดวกเลือกเรียนได้หลายวิธี จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนและสังคมเป็นอย่างยิ่ง การศึกษานอกโรงเรียนมีความหมายครอบคลุมถึงมวลประสบการณ์การเรียนรู้ทุกชนิดที่บุคคลได้รับจากการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติการเรียนรู้จากสังคม และการเรียนรู้ที่ได้รับจากโปรแกรมการศึกษาที่จัดขึ้นนอกเหนือไปจากการศึกษาในโรงเรียนตามปกติ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มิได้อยู่ในระบบโรงเรียนปกติ ได้มีโอกาสแสวงหาความรู้ ทักษะ ทัศนคติ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ฝึกฝนอาชีพ หรือการพัฒนาความรู้เฉพาะเรื่องตามที่ตนสนใจ (อาชัญญา รัตนอุบล 2542 : 1)

การศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการศึกษาที่มุ่งจัดให้กลุ่มเป้าหมายได้พัฒนาชีวิตและสังคม โดยมีหลักการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ด้อยโอกาสพลาดหรือขาดโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ ฝึกทักษะ ปลูกฝังเจตคติที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และการประกอบสัมมาชีพ อีกทั้งสามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการต่าง ๆ ที่เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วได้อย่างมีความสุขตามควร แก่อัตภาพ (กรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2538 อ้างถึงในอาชัญญา รัตนอุบล, 2542 : 3)

งานด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียนหมายถึง การจัดกิจกรรมการศึกษาที่จัดขึ้นนอกระบบโรงเรียน โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ชัดเจน กิจกรรมการศึกษาดังกล่าว มีทั้งที่จัดกิจกรรมโดยเอกเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอื่น หน่วยงานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียนนั้น เป็นทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ทางการศึกษานอกระบบโรงเรียนโดยตรง และหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนชุมชนที่อาศัย การศึกษาเป็นเครื่องมือนำไปสู่วัตถุประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม ในทางทฤษฎีจึงได้นับเนื่องเอาการศึกษานอกโรงเรียนเป็นระบบหนึ่งของการศึกษาตลอดชีวิต ที่มีส่วนเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นและต่อเนื่องกับการศึกษาในระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ทำให้การศึกษานอกระบบโรงเรียนเป็นความหวังของวงการศึกษา และเป็นกลไกที่สำคัญของรัฐในการพัฒนาคุณภาพของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ (รณรงค์ เมฆานุวัฒน์, 2543 : 6 – 7)

การศึกษานอกระบบโรงเรียนจึงถือเป็นกระบวนการของการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งมีภารกิจสำคัญที่จะต้องให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามมาตรฐานของสังคมที่เป็นสิทธิที่คนทุกคนพึงได้รับการศึกษา นอกจากนั้นยังจะต้องได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานของชีวิต เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพของตน (กองส่งเสริมปฏิบัติการ , 2541 : 1 )

การศึกษานอกระบบ (Non-formal Education) เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายรูปแบบ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสถานที่โดยมุ่งหมายให้เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนา คุณภาพมนุษย์ มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผลที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทความรู้พื้นฐานสายสามัญประเภทความรู้และทักษะอาชีพ และประเภทข้อมูลความรู้ทั่วไป


ลักษณะของการจัดการศึกษานอกระบบ
การศึกษานอกระบบ เป็นรูปแบบของการจัดการศึกษา ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้รับบริการที่พลาดโอกาส จากการศึกษาในระบบ วัตถุประสงค์ของการศึกษามีความชัดเจนเช่นเดียวกับการศึกษาในระบบ แต่จะมีข้อแตกต่างตรงที่ รูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียน หรือฝึกอบรม มีความยืดหยุ่นและหลากหลายกว่า สนองตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้น แต่ก็ยังคงมีวิธีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐาน เพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้

หลักการของการศึกษานอกระบบ
1. เน้นความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมและทั่วถึง
2. ส่งเสริมการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความยืดหยุ่นในเรื่องกฎเกณฑ์ ระเบียบต่าง ๆ
3. จัดการศึกษาให้สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้เรียนรู้ในสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิต 4. จัดการศึกษาหลากหลายรูปแบบคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้สอนมิได้จำกัดเฉพาะครู อาจจะเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานหรือจากท้องถิ่น



สรุปการศึกษานอกระบบ เป็นกระบวนการจัดการศึกษาให้ผู้พลาดโอกาสเรียนจากระบบการศึกษาปกติ หรือผู้ต้องการพัฒนาตนเอง ได้รับการเรียนรู้ โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตได้อย่างแท้จริง เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่กว้างขวางและเป็นไปในอัตราที่รวดเร็ว อันจะส่งผลให้ประเทศมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเป็นการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาโดยมุ่งเน้นให้คนมีคุณธรรมนำความรู้ อันจะเป็นสะพานทอดนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาต่อไป

อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/

การศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย


การศึกษาตามอัธยาศัย ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นการศึกษาที่มีมาตั้งแต่มนุษย์เกิดขึ้นในโลก มนุษย์เรียนรู้จากธรรมชาติ เช่นในสังคมเกษตรกรรมมนุษย์เรียนรู้การหนีภัยจากธรรมชาติ และการหาอาหาร การทำสวนครัวจากพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัว แต่ในสังคม อุตสาหกรรม มนุษย์เรียนรู้มากขึ้นจากการติดต่อค้าขาย การอ่านการเขียน การฟังวิทยุ การดูโทรทัศน์ ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทำให้มนุษย์ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา



ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย

ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษาตามอัธยาศัย ไว้ว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย” หมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พุทธศักราช 2542 มาตรา 15 ได้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัย ไว้ว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย” เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ

"การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง วิธีการที่หลากหลายที่นำไปสู่การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นโดยการถูกผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการสนทนา เกี่ยวข้องกับการสำรวจ และขยายประสบการณ์ โดยไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้ เป็นสิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้นอุบัติขึ้น(วิศนี ศิลตระกูล และอมรา ปฐภิญโญบูรณ์, 2544: 2-3)"

การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งยังไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (กรมการศึกษานอกโรงเรียน,2538: 83)

ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย กรมการศึกษานอกโรงเรียน (2544) ให้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัยว่า เป็นการจัดสภาพแวดล้อม สถานการณ์ ปัจจัยเกื้อหนุน สื่อ แหล่งความรู้ และบุคคล เพื่อส่งเสริมให้บุคคล ได้เรียนรู้ตามความสนใจ

ปฐม นิคมานนท์ (2532 : 112) ให้ความหมายว่า การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ซึ่งบุคคลได้เสริมสร้าง เจตคติค่านิยม ทักษะ และความรู้ต่างๆ ในสภาพแวดล้อม เช่น การเรียนรู้จากครอบครัว เพื่อนบ้าน จากการทำงาน การเล่น จากตลาด ร้านค้าห้องสมุด ตลอดจนเรียนรู้จาก สื่อมวลชนต่างๆ ตัวอย่าง เช่น เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและคำศัพท์ต่างๆ จากบ้าน เด็กหญิงเรียนรู้วิธีทำกับข้าว การเลี้ยงน้อง การจัดบ้านเรือน การอบรมสั่งสอน และการสังเกตจากมารดา เด็กผู้ชายเรียนรู้ด้านอาชีพจากบิดา เรียนรู้การเฝ้าดูและสังเกตธรรมชาติ หรือ แม้แต่การค้นพบสิ่งต่างๆ โดยบังเอิญ หรือเรียนรู้โดยไม่ได้ตั้งใจเป็นต้น

ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ และคณะ (2544 : 33-34) ให้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัยว่า เป็นการจัดสภาพแวดล้อม สถานการณ์ ปัจจัยเกื้อหนุนสื่อ แหล่งความรู้ และบุคคล เพื่อส่งเสริมให้บุคคลได้เรียนรู้ตามความ สนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม

นักการศึกษาคนสำคัญชื่อ Coombs และ Ahmed (1974)ให้ความหมายว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งบุคคลแสวงหาและรับความรู้ ทักษะ ทัศนคติความเข้าใจที่กระจ่างชัดที่เกี่ยวกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และการแสดงออกต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวบุคคล (La Belle, 1982:161)

การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึงผลของการเรียนรู้อันเกิดจากสถานการณ์ที่ผู้เรียน หรือแหล่งความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง มีเจตจำนงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ทั้งสองปัจจัยเกิดตรงกัน (Evan, 1981:chapter II)



รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยไม่มีรูปแบบการศึกษา หรือการเรียนรู้ที่ตายตัว ไม่มีหลักสูตรเป็นตัวกำหนดกรอบกิจกรรม หรือขอบข่ายสาระการเรียนรู้ การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความต้องการ และแรงจูงใจใฝ่รู้ของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ดี เราสามารถจัดกิจกรรม เพื่อเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้ ดังนี้

  1. จัดกิจกรรมในแหล่งการเรียนรู้ประเภทต่างๆ เช่นห้องสมุดประชาชน การเรียนรู้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ พิพิธภัณฑ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดกลุ่มเสวนา หรือการอภิปราย กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล และความรู้ต่างๆ ฯลฯ
  2. ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ สนับสนุนสื่อแก่หน่วยงานและแหล่งความรู้ต่างๆ
  3. ส่งเสริมให้หน่วยงานเครือข่ายจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ห้องสมุดในสถานที่ราชการ สถานประกอบการ ฯลฯ
  4. ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนากลุ่มต่างๆ ตามความต้องการ และความสนใจ เช่น กลุ่มดนตรี กลุ่มสิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน ฯลฯ

หลักการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
• จัดให้สนองกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศและวัย ตามความสนใจ และความต้องการ
• จัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
• จัดโดยวิธีหลากหลายโดยใช้สื่อต่างๆ
• จัดให้ยืดหยุ่น โดยไม่ยึดรูปแบบใดๆ
• จัดให้ทันต่อเหตุการณ์
• จัดได้ทุกกาลเทศะ
• จัดบรรยากาศ สถานการณ์ และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต


สรุป
อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาตามอัธยาศัย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่เติมเต็มความต้องการของมนุษย์ที่แสวงหา ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกเหนือการเรียนในระบบโรงเรียน โอกาสของการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเกิดขึ้นได้ ในทุกเวลา ไม่จำกัดสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ (อาทิ รายการวิทยุ-โทรทัศน์กระจายเสียง ภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ CD-DVD แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต)

ข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_law/law030351-1.pdf
http://education.dusit.ac.th/edu_doc/news/new250110.html

อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/

การศึกษาต่อเนื่อง

การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย








ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่องเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการศึกษานอกระบบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ โดยเป็นการจัดการศึกษา เพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็นของบุคคล ต่อเนื่องไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา

  • โกวิท วรพิพัฒน์ (อ้างถึงในกรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2537) ได้ให้ความหมายของการศึกษาต่อเนื่องว่า เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้วในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เมื่อบุคคลจบการศึกษาไปประกอบอาชีพระยะหนึ่ง แล้วมีความจำเป็นต้องหาความรู้เฉพาะ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม ทำให้ผู้นั้นสมัครเรียนเพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษา เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและเทคโนโลยีของสังคมโลก โดยอาจได้รับประกาศนียบัตรหรือใบรับรอง การศึกษาต่อเนื่องในรูปของการศึกษาผู้ใหญ่ที่จัดให้แก่ผู้เรียนที่มีอายุเกินวัยเรียนตามกฎหมาย แต่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนด้วยเหตุที่ยากจน ต้องประกอบอาชีพหรือเร่ร่อน อพยพย้ายถิ่น อยู่ท้องถิ่นห่างไกล บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ หรือทักษะการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นมีวิชาความรู้ทางอาชีพ มีคุณธรรมจริยธรรม และหน้าที่พลเมือง
  • องค์การยูเนสโก นิยามการศึกษาต่อเนื่องว่าเป็น “ความคิดรวบยอดอย่างกว้าง ๆ ซึ่งรวมถึงโอกาสทั้งปวงตามความต้องการและความจำเป็นในการเรียน นอกเหนือไปจากการศึกษาเพื่อการอ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับบุคคล"





กล่าวโดยสรุป

  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อเสริมเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่แบ่งเป็นระดับชั้น
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาสำหรับผู้อ่านออกเขียนได้
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือการจัดการศึกษาที่สนองความต้องการความจำเป็นของผู้เรียน
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดชีวิตให้กับบุคคล
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การจัดประสบการณ์ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่ถูกกำหนดในรูปของโอกาส เพื่อให้ผูกพันต่อเนื่องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลังจากจบระดับประถมศึกษาหรือเทียบเท่า
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นของบุคคลต่อเนื่องจากฐานความรู้เดิม ในรูปของกิจกรรมการเรียนรู้หรือหลักสูตรการเรียนรู้ ประเภทมีหน่วยกิตและไม่มีหน่วยกิตซึ่งมิใช่การศึกษาตามระบบปกติ การศึกษาต่อเนื่อง เป็นได้ทั้งการฝึกอบรมด้านอาชีพ การยกระดับฝีมือในการทำงาน รวมทั้งหลักสูตรการพัฒนาตนเองเพื่อการทำงาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็นของบุคคล ต่อเนื่องไปจากการศึกษา ขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา



การจัดการศึกษาต่อเนื่อง มีหลายรูปแบบ เช่น การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือ การศึกษาเพื่อการเทียบโอน การศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล การศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต


วัตถุประสงค์ของการศึกษาต่อเนื่อง

  1. สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะเพื่อการประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพ
  2. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
  3. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน





ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานงาน กศน. ได้กำหนดภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพิ่มขึ้น ดังนี้

  1. มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น และการฝึกอบรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ให้พัฒนาหลักสูตรที่หลากหลายและทันสมัย สามารถให้บริการได้อย่างกว้างขวาง
  2. มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดกิจกรรมการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ความสามารถในการจัดการชีวิตของตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเน้นกิจกรรมของสถานศึกษา 3 D รวมทั้งกิจกรรมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน
  3. มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมละชุมชนโดยใช้รูปแบบการฝึกอบรม การเข้าค่าย การประชุมสัมมนา การศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำความรู้ไปพัฒนาสังคมและชุมชน
  4. พัฒนาระบบคลังหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องที่สถาบัน กศน.ภาคทุกแห่ง เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน สะดวกต่อการนำไปใช้





เป้าหมายของการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
หลักสูตรประเภทนี้โดยทั่วไปจะเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สนใจและต้องการเรียนรู้เพื่อนำความรู้ ทักษะหรือประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยมีทักษะการอ่านเขียนภาษาไทยเป็นอย่างดี ยกเว้นในบางหลักสูตรอาจกำหนดให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่จำเป็นกับการเรียนรู้ในหลักสูตรนั้น ๆ


ผู้เรียนที่เรียนตามหลักสูตรประเภทการศึกษาต่อเนื่อง ที่ผ่านการวัดผลประเมินผลตามวิธีการและเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับวุฒิบัตรซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

  • เพิ่มคุณสมบัติหรือศักยภาพในการสมัครงานและปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
  • เทียบโอนความรู้เข้าสู่หลักสูตรอื่น ๆ ตามเกณฑ์และวิธีที่แต่ละสถานศึกษากำหนด



รูปแบบการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่องมีรูปแบบการจัด 6 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

  1. รูปแบบ การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือแล้ว
    การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายที่จะคงสภาพ และส่งเสริมการรู้หนังสือ คิดเลขเป็นและมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ มีทักษะความรู้ พื้นฐานในการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการเทียบโอน
    การศึกษาในรูปแบบนี้กำหนดให้เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่จะเลือกเรียนทางสายสามัญหรือสายอาชีพ
  3. รูปแบบ การจัดการศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาในรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกการเรียน เพื่อเป็นทักษะในการประกอบอาชีพ โดยผู้เรียนสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ การเรียนในรูปฝึกทักษะอาชีพนี้ สามารถจัดได้ในหลายลักษณะ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถหารายได้อย่างพอเพียง
  4. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนและชุมชนเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติเพื่อสร้างคุณค่าและทักษะ เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคนในอันที่จะเป็นสมาชิกของชุมชน
  5. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล
    การศึกษาในรูปแบบนี้จัดเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีส่วนร่วมและเรียนรู้เกี่ยวกับที่สังคมต้องการ วัฒนธรรม ความเชื่อ สุขภาพอนามัยและความสนใจทางด้านศิลปะ
  6. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต
    การศึกษาในรูปแบบนี้ จัดให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ชำนาญการสาขาต่าง ๆ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน นักธุรกิจ และนักวางแผน เกี่ยวกับทักษะใหม่ ๆเกี่ยวกับความรู้และเทคนิคที่จะพัฒนาตนเองและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นรับผิดชอบให้เหมาะสมกับความเจริญเติบโตของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป



นอกจากนี้การจัดการศึกษาต่อเนื่องในอนาคต จะมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน ไปสู่สังคมของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ และอิทธิพลของเทคโนโลยี การสื่อสาร สถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่จบการศึกษาสาขาต่างๆ ให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทุกภาคส่วนของสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาต่อเนื่องมากขึ้น

อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการจัดการศึกษาของไทย



ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาท ในการพัฒนาในเกือบทุกๆด้าน ไม่ว่าในด้านธุรกิจ ด้านสาธารณสุข ด้านการทหารและความมั่นคง ด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ดังจะเห็นได้ว่า หน่วยงานธุรกิจส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหาร การจัดการในองค์กร อีกทั้งเพิ่มระดับความสำคัญมากขึ้นในแต่ละปี มีการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ เพื่อการจัดการกับข้อมูลสารสนเทศเป็นการเฉพาะ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อวางกลยุทธ์หาความได้เปรียบในตลาดโดยรวม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงใช้เป็นช่องทาง สำหรับเผยแพร่สารสนเทศขององค์กรมากขึ้นด้วย
ในส่วนของการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ ก็มีบทบาทที่สำคัญในส่วนของการเป็นทั้งเครื่องมือหลัก และเครื่องมือสนับสนุนที่ต้องจัดหา และนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นไปตามลักษณะการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การกำหนดทิศทางและนโยบายการจัดการศึกษาไทย จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการกำหนดคุณสมบัติและคุณภาพของแรงงานในอนาคต ซึ่งเราจะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการขนส่ง เทคโนโลยีการผลิต นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ เหล่านี้ล้วนมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องมีการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอน และปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จะต้องประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานด้านช่องทางและสื่อ ดังต่อไปนี้
  1. เทคโนโลยีโทรคมนาคม (E-communication)
    เทคโนโลยีโทรคมนาคม ที่สำคัญได้แก่ การสื่อสารผ่านดาวเทียม เครือข่ายความถี่การสื่อสาร เครือข่ายเส้นใยแก้วนำแสง เครือข่ายคอมพิวเตอร์







  2. ระบบการสอนผ่านจอภาพ (On -Screen Interactive Instruction)
    ระบบการสอนผ่านจอภาพที่สำคัญได้แก่ การสอนด้วยคอมพิวเตอร์ การสอนด้วยโทรทัศน์ปฏิสัมพันธ์ การสอนด้วยการประชุมทางไกล การสอนด้วยเครือข่ายโลก


  3. ระบบสื่อตามต้องการ (Media On Demand)
    เช่น สัญญาณภาพตามต้องการ เสียงตามต้องการ บทเรียนตามต้องการ เป็นต้น








  4. ระบบฐานความรู้ (Knowledge-Based System)
    เป็นระบบที่พัฒนาต่อยอดมาจากระบบฐานข้อมูล ซึ่งรวบรวม และจัดเรียงเนื้อหาข้อมูลตามลำดับที่มีกฎเกณฑ์ตายตัวโดยใช้คำไข (Key word) เป็นตัวค้นและตัวเรียกข้อมูล ส่วนฐานความรู้จะจัดข้อมูลไว้หลากหลาย เช่น ตามประเภทของหลักสูตร ตามกลุ่มอายุของผู้ใช้ ตามประเภทของวัตถุประสงค์ของการใช้ เป็นต้น การทำงานของฐานความรู้จะต้องทำงานประสานกันอย่างน้อย 3 ระบบได้แก่ ระบบสื่อสาร ระบบสารสนเทศ และระบบเหตุผล เพื่อให้สามารถค้นหาและเรียกข้อมูล หรือความรู้ที่ตอบสนองตรงกับอายุ ตามความต้องการ หรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน
และหากจะกล่าวถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในลักษณะที่ชัดเจนที่สุดนั้น จะอยู่ในรูปลักษณ์ของสื่อต่างๆ ที่รวมเรียกว่า สื่อการศึกษา ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการศึกษาแล้วว่าสื่อการศึกษา โดยเฉพาะสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้กลไกการจัดการศึกษา การเรียนรู้ สามารถส่งผลโดยตรงให้กับผู้เรียนเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ได้อย่างกว้างขวางและเป็นผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ได้มากที่สุด อาจจะสรุปได้ว่าสื่อการศึกษา สามารถส่งผลต่อการเรียนรู้และการศึกษาในด้านต่างๆ ดังนี้
  1. ด้านคุณภาพการเรียนรู้ สื่อการศึกษาจะสามารถช่วยให้คุณภาพการเรียนรู้ดีขึ้น
  2. ในด้านเวลาผู้เรียนผ่านสื่อสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น
  3. การตรึงพฤติกรรมการเรียนรู้ สื่อการศึกษาสามารถสร้างแรงจูงใจและเร้าความสนใจได้เป็นอย่างดี
  4. การมีส่วนร่วมการเรียน ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้
  5. ความทรงจำต่อสาระเนื้อหา การเรียนรู้จากสื่อการศึกษาจะทำให้ผู้เรียนจำได้นาน เรียนรู้ได้เร็วและดีขึ้น
  6. ความเข้าใจในสาระ ผู้เรียนมีประสบการณ์ความเข้าใจจากรูปธรรมไปสู่นามธรรม
  7. สื่อการศึกษาสามารถเอาชนะข้อจำกัดต่างๆได้ เช่น
  • ทำสิ่งที่ซับซ้อนหรือมีหลากหลายมุมมองให้ดูง่ายขึ้น
  • ทำสิ่งที่อยู่ในลักษณะนามธรรมสร้างให้เกิดรูปร่างเป็นรูปธรรม
  • ทำสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วให้ดูช้าลง
  • ทำสิ่งที่เคลื่อนไหวช้าให้ดูเร็วขึ้น
  • ทำสิ่งที่มีขนาดใหญ่มากให้ลดขนาดหรือย่อขนาดลง
  • ทำสิ่งที่เล็กมากให้ขยายขนาดขึ้น
  • นำข้อมูลย้อนเวลาจากอดีตนำมาศึกษาเรียนรู้ได้
  • นำสิ่งที่อยู่ไกลหรือลึกลับมาวิเคราะห์ศึกษาได้
 
 
 
อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/

แนวทางการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้




แนวทางการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้

ในการผลิตสื่อการศึกษาเพื่อใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขึ้นใช้เองโดยครูผู้สอนนั้น นับเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะครู ผู้สอนจะเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์ถึงความยากง่าย ความเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่การที่จะผลิตสื่อ ให้มีประสิทธิภาพ ต่อการเรียนรู้นั้นจะต้องมีกระบวนการผลิตที่มีขั้นตอนและมีระบบ เพื่อให้สื่อที่ผลิตนั้นมีคุณค่าต่อการศึกษาสูงสุด ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรพิจารณาปัจจัยเพื่อการผลิตและพัฒนาสื่อดังต่อไปนี้

ปัจจัยทางด้านเนื้อหา
  1. สาระเนื้อหามีความซับซ้อน ผู้เรียนมีความเข้าใจแตกต่างกัน
  2. สาระเนื้อหาไม่สามารถอธิบายให้เกิดรูปธรรมได้
  3. สาระเนื้อหาวิชานั้นมีขั้นตอน มีกระบวนการที่ใช้เวลานาน
  4. สาระเนื้อหาวิชานั้นมีขั้นตอน มีกระบวนการที่ใช้เวลารวดเร็วเกินไป
  5. สาระเนื้อหาวิชานั้นต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของบทเรียนที่ผู้เรียนเมื่อเรียนรู้แล้ว มีความสามารถอะไรบ้าง

ปัจจัยทางด้านการผลิต
  1. เลือกประเภทหรือรูปแบบของสื่อที่จะผลิต : อาทิ ชุดการสอน บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน วิดีทัศน์
  2. ความพร้อมด้านสาระเนื้อหา
  3. ความพร้อมด้านเครื่องมือ และเทคโนโลยี
  4. ความพร้อมด้านผู้ผลิต/พัฒนา : อาทิ ผู้เชี่ยวชาญเนื้อหา ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ นักวัดผล ช่างเทคนิค
  5. ความพร้อมด้านแผนการผลิต : ความเหมาะสมต่อวัยของการเรียนรู้ ลำดับขั้นตอนการสร้าง กระบวนการถ่ายทอดเนื้อหา การตรึงพฤติกรรม กิจกรรมการเรียนรู้
  6. ความพร้อมด้านงบประมาณ

ปัจจัยด้านการนำไปใช้งาน
  1. ความพร้อมของเครื่องมือ และเทคโนโลยีในการเรียนรู้
    อุปกรณ์ เครื่องมือที่นำมาใช้ประกอบการเรียนรู้
  2. ความพร้อมของสภาพแวดล้อม
    เสียง แสง
  3. ความพร้อมของผู้เรียนและครูผู้สอน

ปัจจัยทางด้านการเรียนรู้
  1. ลักษณะเฉพาะการเรียนรู้ของตัวสื่อ
    เรียนรู้ด้วยตนเอง หรือควบคุมพฤติกรรม/ลำดับเนื้อหาโดยครูผู้สอน
  2. วิธีการใช้งาน
    ความ ยาก ง่าย การใช้ประกอบกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นของการใช้สื่อ
  3. กระบวนการเรียนรู้ การเข้าถึงและการถ่ายทอดเนื้อหา
  4. การซึมซับความรู้
  5. การตรึงพฤติกรรมต่อการเรียนรู้
นอกจากนี้ ครูผู้สอนควรจะได้ประเมินการใช้สื่อประกอบการเรียนรู้ว่า มีข้อบกพร่อง หรือส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อใจได้ดำเนินการวางแผนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/