Monday, February 29, 2016

การศึกษาต่อเนื่อง

การศึกษา (Education)ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นิยาม ความหมายของการศึกษา มีความหมายว่า "กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต" และมาตรา 15 ได้กำหนดระบบการศึกษา ในการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย








ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่องเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการศึกษานอกระบบ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ โดยเป็นการจัดการศึกษา เพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็นของบุคคล ต่อเนื่องไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา

  • โกวิท วรพิพัฒน์ (อ้างถึงในกรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2537) ได้ให้ความหมายของการศึกษาต่อเนื่องว่า เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้วในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เมื่อบุคคลจบการศึกษาไปประกอบอาชีพระยะหนึ่ง แล้วมีความจำเป็นต้องหาความรู้เฉพาะ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม ทำให้ผู้นั้นสมัครเรียนเพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษา เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและเทคโนโลยีของสังคมโลก โดยอาจได้รับประกาศนียบัตรหรือใบรับรอง การศึกษาต่อเนื่องในรูปของการศึกษาผู้ใหญ่ที่จัดให้แก่ผู้เรียนที่มีอายุเกินวัยเรียนตามกฎหมาย แต่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนด้วยเหตุที่ยากจน ต้องประกอบอาชีพหรือเร่ร่อน อพยพย้ายถิ่น อยู่ท้องถิ่นห่างไกล บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ หรือทักษะการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นมีวิชาความรู้ทางอาชีพ มีคุณธรรมจริยธรรม และหน้าที่พลเมือง
  • องค์การยูเนสโก นิยามการศึกษาต่อเนื่องว่าเป็น “ความคิดรวบยอดอย่างกว้าง ๆ ซึ่งรวมถึงโอกาสทั้งปวงตามความต้องการและความจำเป็นในการเรียน นอกเหนือไปจากการศึกษาเพื่อการอ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน เป็นการศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับบุคคล"





กล่าวโดยสรุป

  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อเสริมเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่แบ่งเป็นระดับชั้น
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาสำหรับผู้อ่านออกเขียนได้
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือการจัดการศึกษาที่สนองความต้องการความจำเป็นของผู้เรียน
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดชีวิตให้กับบุคคล
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การจัดประสบการณ์ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือ การศึกษาที่ถูกกำหนดในรูปของโอกาส เพื่อให้ผูกพันต่อเนื่องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลังจากจบระดับประถมศึกษาหรือเทียบเท่า
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นของบุคคลต่อเนื่องจากฐานความรู้เดิม ในรูปของกิจกรรมการเรียนรู้หรือหลักสูตรการเรียนรู้ ประเภทมีหน่วยกิตและไม่มีหน่วยกิตซึ่งมิใช่การศึกษาตามระบบปกติ การศึกษาต่อเนื่อง เป็นได้ทั้งการฝึกอบรมด้านอาชีพ การยกระดับฝีมือในการทำงาน รวมทั้งหลักสูตรการพัฒนาตนเองเพื่อการทำงาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา
  • การศึกษาต่อเนื่อง คือการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็นของบุคคล ต่อเนื่องไปจากการศึกษา ขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา



การจัดการศึกษาต่อเนื่อง มีหลายรูปแบบ เช่น การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือ การศึกษาเพื่อการเทียบโอน การศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล การศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต


วัตถุประสงค์ของการศึกษาต่อเนื่อง

  1. สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะเพื่อการประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพ
  2. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
  3. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน





ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2553 สำนักงานงาน กศน. ได้กำหนดภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพิ่มขึ้น ดังนี้

  1. มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น และการฝึกอบรม ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ให้พัฒนาหลักสูตรที่หลากหลายและทันสมัย สามารถให้บริการได้อย่างกว้างขวาง
  2. มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดกิจกรรมการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ทุกกลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ความสามารถในการจัดการชีวิตของตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเน้นกิจกรรมของสถานศึกษา 3 D รวมทั้งกิจกรรมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน
  3. มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมละชุมชนโดยใช้รูปแบบการฝึกอบรม การเข้าค่าย การประชุมสัมมนา การศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำความรู้ไปพัฒนาสังคมและชุมชน
  4. พัฒนาระบบคลังหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องที่สถาบัน กศน.ภาคทุกแห่ง เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน สะดวกต่อการนำไปใช้





เป้าหมายของการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
หลักสูตรประเภทนี้โดยทั่วไปจะเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบโรงเรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สนใจและต้องการเรียนรู้เพื่อนำความรู้ ทักษะหรือประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยมีทักษะการอ่านเขียนภาษาไทยเป็นอย่างดี ยกเว้นในบางหลักสูตรอาจกำหนดให้มีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่จำเป็นกับการเรียนรู้ในหลักสูตรนั้น ๆ


ผู้เรียนที่เรียนตามหลักสูตรประเภทการศึกษาต่อเนื่อง ที่ผ่านการวัดผลประเมินผลตามวิธีการและเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับวุฒิบัตรซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

  • เพิ่มคุณสมบัติหรือศักยภาพในการสมัครงานและปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
  • เทียบโอนความรู้เข้าสู่หลักสูตรอื่น ๆ ตามเกณฑ์และวิธีที่แต่ละสถานศึกษากำหนด



รูปแบบการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่องมีรูปแบบการจัด 6 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

  1. รูปแบบ การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือแล้ว
    การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายที่จะคงสภาพ และส่งเสริมการรู้หนังสือ คิดเลขเป็นและมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ มีทักษะความรู้ พื้นฐานในการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการเทียบโอน
    การศึกษาในรูปแบบนี้กำหนดให้เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่จะเลือกเรียนทางสายสามัญหรือสายอาชีพ
  3. รูปแบบ การจัดการศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาในรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกการเรียน เพื่อเป็นทักษะในการประกอบอาชีพ โดยผู้เรียนสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ การเรียนในรูปฝึกทักษะอาชีพนี้ สามารถจัดได้ในหลายลักษณะ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถหารายได้อย่างพอเพียง
  4. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนและชุมชนเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติเพื่อสร้างคุณค่าและทักษะ เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคนในอันที่จะเป็นสมาชิกของชุมชน
  5. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล
    การศึกษาในรูปแบบนี้จัดเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีส่วนร่วมและเรียนรู้เกี่ยวกับที่สังคมต้องการ วัฒนธรรม ความเชื่อ สุขภาพอนามัยและความสนใจทางด้านศิลปะ
  6. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต
    การศึกษาในรูปแบบนี้ จัดให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ชำนาญการสาขาต่าง ๆ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน นักธุรกิจ และนักวางแผน เกี่ยวกับทักษะใหม่ ๆเกี่ยวกับความรู้และเทคนิคที่จะพัฒนาตนเองและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นรับผิดชอบให้เหมาะสมกับความเจริญเติบโตของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป



นอกจากนี้การจัดการศึกษาต่อเนื่องในอนาคต จะมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน ไปสู่สังคมของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ และอิทธิพลของเทคโนโลยี การสื่อสาร สถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่จบการศึกษาสาขาต่างๆ ให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทุกภาคส่วนของสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาต่อเนื่องมากขึ้น

อ้างอิงจาก : http://mediathailand.blogspot.com/

0 comments:

Post a Comment